เครื่องตรวจวัดจากระยะไกล



          เครื่องตรวจวัดจากระยะไกล (remote sensor) หรือเครื่องบันทึกพลังงานที่สะท้อนจากพื้นผิวของวัตถุ เช่น กล้องถ่ายรูปหรือเครื่องกวาดภาพ เป็นต้น เครื่องตรวจวัดนี้จะถูกติดตั้งไว้ในยานสำรวจ(platform) ได้แก่เครื่องบินหรือดาวเทียม ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องวัดชนิดใหม่ขึ้นมาใช้อย่างมากมาย เพื่อใช้งานเฉพาะเรื่องซึ่งพอจะจำแนกประเภทเครื่องวัดได้ 2 ชนิด คือ
          1. เครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ (Passive Sensor) หรือ แบบเฉื่อย
                      เครื่องตรวจวัดในกลุ่มนี้  จะคอยวัดความเข้มของรังสีที่แผ่ออกมาจากวัตถุ หรือ ของแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจากตัววัตถุเท่านั้น  แต่มันจะ ไม่มี การสร้างสัญญาณขึ้นมาใช้เอง ตัวอย่างของอุปกรณ์ในกลุ่มนี้มี เช่น พวกกล้องถ่ายภาพทางอากาศ  หรือ เครื่องกวาดภาพ เป็นต้น
          2. เครื่องตรวจวัดแบบแอคทีฟ (Active Sensor) หรือ แบบขยัน
                       เครื่องตรวจวัดในกลุ่มนี้ จะวัดความเข้มของสัญญาณที่ตัวมันเอง สร้างและส่งออกไป ซึ่งสะท้อนกลับมาจากตัววัตถุเป็นหลัก (Backscatter Radiation) แล้วทำการบันทึก โดยอุปกรณ์สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ พวกเรดาร์  ไลดาร์ และ โซนาร์ 

          ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ (Passive Sensor) และเครื่องตรวจวัดแบบแอคทีฟ (Active Sensor)
     -  เครื่องตรวจวัด แบบแพสซีฟ (Passive Sensor) จะมีทั้งแบบที่วัดรังสีในช่วงคลื่นของแสงขาว (visible light) อินฟราเรด (IR)   และ ช่วงไมโครเวฟ (microwave) ในขณะที่เครื่องตรวจวัด แบบแอคทีฟ (Active Sensor) จะทำงานในช่วงไมโครเวฟเป็นหลัก
     - เครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ (Passive Sensor) พึ่งพาพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทำให้ทำงานได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ในขณะที่เครื่องตรวจวัดแบบแอคทีฟ (Active Sensor) ทำงานได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน
     - เครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ (Passive Sensor) ไม่สามารถถ่ายภาพทะลุผ่านเมฆได้ ในขณะที่เครื่องตรวจวัดแบบแอคทีฟ (Active Sensor) สามารถถ่ายภาพทะลุผ่านเมฆได้ ดังนั้นภาพถ่ายของดาวเทียมที่มีเครื่องตรวจวัดแบบแพสซีฟ จึงมีก้อนเมฆติดมาด้วย แต่เครื่องตรวจวัดแบบแอคทีฟจะไม่มี

     แหล่งที่มา : อ.ดร.นฤมล อินทรวิเชียร
อ.กฤษณะ อิ่มสวัสดิ์
http://www.ee.eng.cmu.ac.th/~tharadol/teach/912706/geo_03.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น